วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

การเจริญสตินี้ ต้องทำมากๆ ทำบ่อยๆ นั่งทำก็ได้ นอนทำก็ได้ ขึ้นรถลงเรือทำได้ทั้งนั้น เวลาเรานั่งรถเมล์ เรานั่งรถยนต์ก็ตาม เราเอามือวางไว้บนขา พลิกมือคว่ำลงก็ได้ หรือเราไม่อยากพลิกขึ้นคว่ำลง เราเพียงเอานิ้วมือสัมผัสนิ้ว อย่างนี้ก็ได้ สัมผัสอย่างนี้ให้มีความตื่นตัว ทำช้าๆ หรือจะกำมือเหยียดมือ อย่างนี้ก็ได้

คำว่า "ให้ทำอยู่ตลอดเวลานั้น" (คือ) เราทำความรู้สึก ซักผ้า ซักเสื้อ ถูบ้านกวาดบ้าน ล้างถ้วยล้างจาน เขียนหนังสือ หรือซื้อขายก็ได้ เพียงเรามีความรู้สึกเท่านั้น แต่ความรู้สึกอันนี้แหละ มันจะสะสมเอาไว้ทีละเล็กทีละน้อย เหมือนกับเราที่มีขันหรือมีโอ่งน้ำ หรือมีอะไรก็ตามที่มันดี ที่รองรับมันดี ฝนตกลงมา ตกทีละนิด เม็ดฝนเม็ดน้อยๆ ตกลงนานๆ แต่มันเก็บได้ดี น้ำก็เลยเต็มโอ่งเต็มขันขึ้นมา

อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำความรู้สึกตัว ยกเท้าไปยกเท้ามา ยกมือไปยกมือมา เรานอนกำมือเหยียดมือ ทำอยู่อย่างนั้นหลับแล้วก็แล้วไป เมื่อนอนตื่นขึ้นมาเราก็ทำไป หลับแล้วก็แล้วไป ท่านสอนอย่างนี้ เรียกว่า ทำบ่อยๆ อันนี้เรียกว่า เป็นการเจริญสติ

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
(พันธ์ อินทผิว)

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

หนทางยังมีอยู่

หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางยังไม่ขาดสาย ลงมือเสียแต่วันนี้ก่อนที่กระแสลมแห่งกาลเวลา จะพัดพารอยพระบาทของท่านหายไปเพราะถึงเวลานั้น พวกเราก็จะต้องระหกระเหินไร้ทิศทาง ไปอีกนานแสนนาน

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

กวีแห่งท้องทะเล

ในฤดูใบไม้ผลิปีต่อมา พระบรมศาสดาเสด็จกลับมาทางภาคตะวันออก ทรงประทับอยู่ ณ เมืองเวสาลีและจัมปา ทรงจาริกไปตามลำแม่น้ำมุ่งสู่ท้องทะเล จากนั้นทรงจาริกแสดงธรรมไปตามชายฝั่งทะเล วันหนึ่งขณะที่หมู่สงฆ์กำลังยืนอยู่ ณ ชายฝั่งทะเล พระอานนท์ได้ทูลถามว่า "ข้าแต่พระบรมศาสดา เมื่อได้สดับเสียงสายน้ำ และมองดูเกลียวคลื่น ข้าพเจ้าตามลมหายใจและดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ ใจ-กายของข้าพเจ้ารู้สึกเบาสบายอย่างที่สุด ข้าพเจ้าพบว่าท้องทะเลช่วยฟื้นชีวิตใหม่ให้ข้าพเจ้า" พระพุทธองค์ทรงพยักพระพักตร์

วันต่อมาเหล่าพระภิกษุหยุดสนทนากับชาวประมง พระอานนท์ถามชาวประมงว่ามีความรู้สึกต่อทะเลอย่างไร ชายหาปลามีรูปร่างสูง หน้าตาดี ผิวสีทองเพราะต้องแดด เขากล่าวแก่พระอานนท์ว่า "ข้าพเจ้าชอบหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับท้องทะเล ประการแรก คือ หาดทรายซึ่งลาดเทลงไปทีละน้อยสู่ท้องทะเล ช่วยให้ชาวประมงสามารถเข็นเรือลงน้ำได้สะดวก และวางตาข่ายจับปลาได้ ประการที่ ๒ ท้องทะเลย่อมตั้งอยู่ในที่เดิม ท่านย่อมรู้ดีว่าจะไปหาทะเลได้ที่ไหน ประการที่ ๓ ท้องทะเลย่อมไม่รองรับซากศพ แต่จะซัดพาซากศพเหล่านั้นให้กลับคืนสู่ฝั่ง ประการที่ ๔ ท้องทะเลสามารถรองรับแม่น้ำทุกสาย เช่น คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ แม่น้ำทุกสายล้วนไหลลงสู่ท้องทะเล แล้วสละทิ้งชื่อเดิมของตนเพื่อรับเอาชื่อแห่งท้องทะเลอันเดียวกัน ประการที่ ๕ แม่น้ำไหลลงสู่ท้องทะเลตลอดทั้งวันทั้งคืน แต่ระดับน้ำในทะเลยังคงเท่าเดิม ประการที่ ๖ ท้องทะเลมีรสเค็มเสมอ ประการที่ ๗ ท้องทะเลมีปะการังสวยงาม มีไข่มุกเม็ดใหญ่ และศิลามณีล้ำค่ามากมาย ประการที่ ๘ ท้องทะเลเป็นที่พักอาศัยของสิ่งมีชีวิตนับพัน ตั้งแต่สัตว์ใหญ่มหึมาขนาดยาวหลายร้อยฟุตลงไปจนถึงขนาดเล็กกว่ารูเข็มหรือฝุ่นละอองหนึ่ง พระเถระ ข้าพเจ้าคิดว่าท่านคงเห็นแล้วว่า ข้าพเจ้ารักท้องทะเลเพียงใด"

พระอานนท์ มองชายหาปลาด้วยความชื่นชม แม้เขาเป็นชาวประมงสามัญคนหนึ่ง แต่เขาก็เอ่ยถ้อยคำดั่งกวีคนหนึ่ง พระอานนท์หันไปทางพระบรมศาสดาพร้อมกับกราบทูลขึ้นว่า "ชายผู้นี้กล่าวสรรเสริญท้องทะเลได้บรรเจิดยิ่งนัก เขารักทะเลอย่างเดียวกับที่ข้าพเจ้ารักโพธิมรรค ขอให้พวกเราสดับฟังคำสอนของพระองค์มากกว่านี้เถิด"

พระบรมศาสดาทรงแย้มพระสรวล ทรงชี้ไปที่หมู่หินก้อนใหญ่พลางตรัสว่า "จงขึ้นไปนั่งบนก้อนศิลาเหล่านั้นสิ ขณะที่ตถาคตแสดงคุณลักษณะพิเศษของธรรมอันเป็นเครื่องตรัสรู้"

หมู่สงฆ์รวมทั้งชาวประมงปฏิบัติตามคำของพระบรมศาสดา เมื่อทุกคนนั่งลงแล้ว พระพุทธองค์ทรงเริ่มแสดงธรรม "เพื่อนชาวประมงของเราได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของทะเลไว้ ๘ ประการ บัดนี้ตถาคตจักได้แสดงคุณลักษณะพิเศษ ๘ ประการของมรรควิถีแห่งการตรัสรู้ ประการแรก พระธรรมย่อมไม่ต่างจากท้องทะเล ซึ่งมีชายหาดลาดลงไปโดยลำดับ อันช่วยให้ชาวประมงชักลากลงสู่ทะเล หรือวางข่ายดักอวนในทะเลได้สะดวก ในแง่ของคำสอน ทุกๆ คนสามารถประสบความสำเร็จก้าวหน้าได้จากง่ายสู่ยาก จากต่ำขึ้นสูง จากระดับพื้นผิวสู่ระดับลึกซึ้ง ธรรมะใหญ่เพียงพอที่จะบรรจุทุกๆ สิ่ง ทุกคนสามารถเข้าสู่มรรค ไม่ว่าจะเป็นผู้เยาว์ หรือผู้สูงอายุ ผู้มีการศึกษา หรือผู้ไร้การศึกษา ทุกคนล้วนสามารถแสวงหาวิธีการที่เหมาะสมกับความต้องการส่วนตัวของเขาหรือเธอ

"ประการที่ ๒ ธรรมะก็ดุจเดียวกับท้องทะเล คือตั้งอยู่ในหลักแหล่งเดิม หลักคำสอนย่อมไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ศีลได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาอย่างชัดเจน ธรรมะที่แท้ย่อมดำรงอยู่ตราบเท่าที่คนยังศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนและศีล วินัย ธรรมะย่อมไม่มีวันเสื่อมสูญ หรือเปลี่ยนย้ายที่ตั้ง

"ประการที่ ๓ เฉกเช่นเดียวกับท้องทะเลที่ไม่อุ้มซากศพเอาไว้ ธรรมะก็ไม่มีที่อาศัยให้แก่อวิชชา ความเกียจคร้าน หรือการทุศีล ผู้ใดก็ตามที่ไม่เพียรปฏิบัติธรรมแล้ว ในที่สุดจะพบว่าเขาไม่อาจอยู่ในหมู่สงฆ์ได้อีกต่อไป

"ประการที่ ๔ เฉกเช่นเดียวกับที่ท้องทะเลรองรับแม่น้ำทุกสายเสมอหน้ากัน ธรรมะย่อมต้อนรับบุคคลจากทุกชนชั้นวรรณะอย่างเท่าเทียมกัน และเฉกเช่นเดียวกับแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล แล้วทิ้งชื่อของพวกตนไว้เบื้องหลัง ผู้เข้าสู่อริยมรรคย่อมละทิ้งวรรณะ โคตรตระกูลและตำแหน่งฐานะไว้เบื้องหลังเพื่อน้อมรับสมณฉายา

"ประการที่ ๕ เฉกเช่นเดียวกับที่ระดับน้ำในทะเลอยู่คงที่เสมอ ธรรมะก็อยู่ในระดับคงที่เสมอไม่ว่าจะมีผู้ศรัทธามากหรือน้อยเพียงได เราไม่อาจวัดคุณค่าของธรรมะด้วยจำนวนของผู้ศรัทธา

"ประการที่ ๖ เฉกเช่นเดียวกับที่ทะเลมีรสเค็มอยู่เสมอ ธรรมะก็มีเพียงรสเดียว นั่นคือรสแห่งวิมุตติภาพ แม้ว่าธรรมะจะแสดงออกในหลากหลายวิธี และมีวิธีปฏิบัติมากมายก็ตาม หากคำสอนใดมิได้นำไปสู่ความหลุดพ้น คำสอนนั้นมิใช่คำสอนที่แท้จริง

"ประการที่ ๗ เฉกเช่นเดียวกับที่ท้องทะเลมีปะการัง ไข่มุกใหญ่ และศิลามณีอันล้ำค่า ธรรมะก็ทรงไว้ซึ่งคำสอนอันลุ่มลึกล้ำค่า ได้แก่ อริยสัจ ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรค ๘

"ประการที่ ๘ เฉกเช่นเดียวกับที่ท้องทะเลเป็นแหล่งพึ่งพิงของสรรพชีวิต ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตนั้นจะเล็กเท่าเม็ดทราย หรือใหญ่ยาวหลายร้อยฟุตก็ตาม ธรรมะก็เป็นที่พึ่งพิงของมวลมนุษย์ไม่ว่าคนพวกนั้นจะเป็นเด็กไร้การศึกษาหรือเป็นผู้ยิ่งใหญ่เช่นพระโพธิสัตว์มีนักศึกษาผู้เป็นศิษย์แห่งธรรมนับจำนวนไม่ถ้วนที่ได้บรรลุโสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล หรืออรหันตผล

"เฉกเช่นเดียวกับท้องทะเล ธรรมะเป็นแหล่งแห่งแรงบันดาลใจและเป็นแหล่งมหาสมบัติอันประมาณค่ามิได้"

พระอานนท์มหาเถระ พนมหัตถ์ขึ้นหันไปทางพระพุทธองค์ พลางกราบทูลว่า "ข้าแต่พระบรมศาสดา พระองค์ทรงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและยังทรงเป็นกวีด้วย"

จากหนังสือ "คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่"
โดย ติช นัท ฮันท์

วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552

รู้ตัวแบบลืมตัว ลืมตัวแบบรู้ตัว

ในความรู้สึกตัว เมื่อเริ่มปฏิบัติ จะมีความรู้สึกตัว แบบทึบๆ หนักๆ คือรู้สึกตัวได้ดีแล้ว แต่มันยังหนักอยู่ แต่ถ้าปฏิบัติต่อไป มันค่อยๆ กลายเป็นรู้ตัวล้วนๆ รู้ล้วนๆ ไปทีละน้อย เบากายเบาใจไปเรื่อยๆ ที่เราจับการเคลื่อนไหวนั้นเพื่อจะรู้สึกตัว หรือเรารู้สึกตัวในการเคลื่อนไหว เป็นการเสริมกัน แต่ถ้ารู้ตัวมากเกินไปก็จะกลายเป็นจ้องมองตัวเอง แล้วมันจะเครียดขึ้น ดังนั้นภาวะที่เราปรารถนาจริงๆ คือสมดุลระหว่างรู้ตัวและลืมตัว ลืมตัวแบบรู้ตัว รู้ตัวแบบลืมตัว นี่สำคัญ

ถ้าเราพยายามจะรู้ตัวตลอด ยึดติดกับปัจจุบันขณะ จะอึดอัด ชาวพุทธมักเข้าใจว่า นิพพานเป็นปัจจุบัน แล้วพยายามปฏิบัติเพื่ออยู่ในปัจจุบันขณะ นั่นเป็นความยึดติด นิพพาน ไม่เป็นอดีต ไม่เป็นอนาคต ไม่เป็นแม้แต่ปัจจุบัน แต่ปัจจุบัน เป็นฐานของการภาวนา เราต้องตั้งฐานที่ปัจจุบันขณะก่อน ต้องละแม้แต่ปัจจุบัน เพระฉะนั้น ความรู้สึกตัวของเราต้องเป็นความรู้สึกเบาๆ ท่านคงปฏิเสธไม่ได้ว่า วันที่เราสบายที่สุดคือเราเดินแล้วลืมตัว แต่เราไม่ได้บ้า

รู้ตัวแบบลืมตัว ภาวะเช่นนี้เป็นเป้าหมายหลักของเรา เพราะที่ตรงนี้ กฎธรรมชาติจะทำกิจของการปลดปล่อยเอง สัญชาติญาณของความไม่ประสงค์ทุกข์จะทำงานเอง

เขมานันทะ

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การฝึกสติกับความดีเลว

ควง ครูอยากจะย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในขณะฝึกสตินั้น เราไม่ควรไปติดเรื่องความดีเลว ซึ่งจะทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งภายในตัวเอง

เมื่อไรก็ตามที่ความคิดฝ่ายกุศลเกิดขึ้น ก็ให้รับรู้ว่า "ความคิดที่เป็นกุศลเกิดขึ้นแล้ว" และถ้าหากความคิดฝ่ายอกุศลเกิดขึ้น ก็ให้รับรู้ว่า "ความคิดฝ่ายอกุศลเกิดขึ้นแล้ว" อย่าไปเกาะติด หรือพยายามกำจัดมัน ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ชอบมันก็ตาม รับรู้มันเฉยๆ ก็พอ แล้วถ้าหากมันจากไป เธอก็ต้องรู้ว่ามันจากไปแล้ว หากมันยังอยู่เธอก็ต้องรู้ว่ามันยังอยู่ เมื่อใดเธอมีสติถึงขนาดนี้ เมื่อนั้นเธอไม่มีอะไรที่ต้องกลัวอีกต่อไป

ติช นัท ฮันท์

สิ่งที่น่ากลัว

ความดำมืดของแสง เป็นสิ่งที่มนุษย์กลัว
สิ่งที่น่ากลัวกว่าความดำมืดของแสง คือ ความดำมืดของความตาย
สิ่งที่น่ากลัวกว่าความดำมืดของความตาย คือ ความดำมืดของนรกอเวจึ
สิ่งที่น่ากลัวกว่าความดำมืดของนรกอเวจี คือ ความดำมืดของสังสารวัฏแห่งการตายเกิดอันไม่มีที่สิ้นสุด

ดังตฤณ

วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พระปุณณะ

ในวันออกพรรษา พระภิกษุสาวกเป็นจำนวนมากได้พากันถวายบังคมลาพระบรมศาสดา จากนั้นก็ออกสู่ท้องถนนมุ่งหน้าจาริกเผยแผ่ธรรมะ พระปุณณะ พระภิกษุสาวกผู้มีความสามารถในการเทศน์ การสอนและเป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดท่านหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าเกี่ยวกับความตั้งใจของท่าน ที่จะกลับไปเผยแผ่ธรรมะในถิ่นฐานบ้านเกิดของท่าน พระปุณณะมาจากเกาะสุนาปรันตะ ตั้งอยู่ในทะเลฝั่งตะวันออก

พระพุทธองค์ตรัสท้วงว่า "เราได้ทราบว่าถิ่นเกิดของท่าน ยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนอยู่มาก ชาวพื้นเมืองถิ่นนั้นมีกิตติศัพท์ว่าเป็นพวกดุร้ายและมีเรื่องขัดแย้งรุนแรง ตถาคตไม่แน่ใจว่าท่านคิดดีแล้วหรือที่จะกลับไปเผยแผ่ธรรมะที่นั่น"

พระปุณณะเถระกราบทูลตอบว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเพราะเหตุที่ชนชาวถิ่นนั้นยังดุร้าย ป่าเถื่อนนั่นเทียว ข้าพเจ้าจึงประสงค์จะไปเทศนาสั่งสอนธรรม ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าอาจสามารถแสดงให้ชนเหล่านั้นเห็นวิถีแห่งเมตตาธรรมและอหิงสธรรม ข้าพเจ้าเชื่อว่าจักได้รับผลสำเร็จ"

"ปุณณะ ท่านจะทำอย่างไร หากชนเหล่านั้นขู่ตะคอกใส่ท่าน"

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นั่นไม่เป็นปัญหาอย่างใดเลย นับว่ายังดีที่คนพวกนั้นยังไม่ขว้างก้อนหินและสิ่งปฏิกูลใส่ข้าพเจ้า"

"ถ้าหากพวกเขาขว้างก้อนหินและสิ่งปฏิกูลใส่ท่านเล่า"

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นั่นไม่เป็นปัญหาอีกนั่นแหละ อย่างน้อยพวกเขายังไม่เฆี่ยนตีข้าพเจ้าด้วยไม้เรียวและไม้ตะพด"

"ถ้าหากพวกเขาตีท่านด้วยไม้เรียวและไม้ตะพดเล่า"

พระปุณณเถระยิ้ม กราบทูลตอบว่า "ข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่าพวกเขาอ่อนโยนอยู่ดี เพราะถึงอย่างไรพวกเขาก็ยังไม่ถึงกับฆ่าแกงข้าพเจ้า"

"ปุณณะ หากพวกเขาฆ่าท่านเล่า"

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพเจ้าสงสัยยิ่งนักว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ถ้าหากมันเกิดขึ้นจริง ข้าพเจ้าย่อมพิจารณาว่าการตายซึ่งอุทิศเพื่อวิถีแห่งเมตตาธรรมและอหิงสธรรม เป็นความตายที่มีความหมาย ซึ่งช่วยยืนยันคำสอนได้เป็นอย่างดี ทุกคนย่อมต้องตาย ข้าพเจ้ามิได้เสียใจที่จะตายเพื่ออริยมรรค"

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระสาวก "ท่านช่างวิเศษแท้ ปุณณะท่านมีความอาจหาญในการเผยแผ่ธรรมะในนิคมสุนาปรันตะ อันที่จริงตถาคตตั้งกระทู้เหล่านี้ เพียงเป็นประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายที่ห้อมล้อมอยู่ ณ ที่นี้ ตถาคตไม่มีข้อสงสัยอันใดในความสามารถ และข้อวัตรด้านอหิงสธรรมของท่าน"